วิเคราะห์ความเสี่ยง

การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช (PEST RISK ANALYSIS)

    “หลักการสากลการกักกันพืช คือ การป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชติดเข้ามา ดังนั้น ระบบกักกันที่มีประสิทธิภาพต้องพิจารณาจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นสำคัญ หรือในทางวิชาการจะเรียกว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยง สำหรับการกักกันพืช จะใช้คำว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช หรือ Pest Risk Analysis ซึ่งจะเห็นว่าระบบกักกันพืชให้ความสำคัญกับศัตรูพืชและการจัดการศัตรูพืชไม่ให้ติดเข้ามาในราชอาณาจักรมากกว่าชนิดพืช การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช จึงเป็นกระบวนการประเมินหลักฐานด้านชีววิทยา หรือด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ และด้านเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาว่าศัตรูพืชชนิดหนึ่งควรได้รับการควบคุมหรือไม่ และมาตรการสุขอนามัยพืชใดที่เหมาะสมต่อการจัดการศัตรูพืชชนิดนั้น
    การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช แบ่งได้ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การเริ่มกระบวนการ (initiation) การประเมินความเสี่ยง (pest risk assessment) และการจัดการความเสี่ยง (pest risk management)

ขั้นตอนที่ 1 การเริ่มกระบวนการ (Initiation)

    สามารถเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เส้นทางศัตรูพืช (PRA Initiate by Pathway) ความจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงจากศัตรูพืชใหม่หรือต้องมีการทบทวนของเดิมนั้น อาจเกิดขึ้นจากการนำเข้าสินค้าที่เป็นพืช หรือผลิตผลพืชชนิดใหม่ (new commodity) หรือจากแหล่งใหม่ (new origin) ซึ่งอาจจะมีศัตรูพืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้ หรือการนำเข้าพืชชนิดใหม่เข้ามาเพื่อใช้ในการทดลอง เช่น การคัดเลือกพันธุ์ หรืองานวิจัยอื่น ๆ หรือ ตรวจพบว่าศัตรูพืชสามารถเข้ามาได้ทางอื่น ๆ นอกเหนือจากสินค้าที่นำเข้า เช่น สามารถระบาดเข้ามาได้โดยธรรมชาติ หรือติดมากับ container เป็นต้น
    แนวทางหนึ่ง คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากศัตรูพืช (PRA Initiation by Pest) การเริ่มต้นวิเคราะห์ความเสี่ยงแนวทางนี้ เกิดขึ้นจากหลายกรณี ทั้งในภาวะฉุกเฉินเนื่องจากตรวจพบการทำลายของศัตรูพืชหรือเกิดการระบาดของศัตรูพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ประเมินความเสี่ยง หรือตรวจพบศัตรูพืชชนิดใหม่มากับสินค้าที่นำเข้า หรือ นักวิชาการได้ตรวจพบอันตรายจากศัตรูพืชชนิดใหม่ รวมทั้งมีผู้ขอนำเข้าศัตรูพืชและเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ เพื่อมาทำการทดลองวิจัย หรือมีการตรวจพบศัตรูพืชซ้ำบ่อยครั้ง อีกทั้งพบว่าลักษณะทางพันธุกรรมของศัตรูพืชเปลี่ยนไป ทำให้ความรุนแรงของศัตรูพืชเปลี่ยนไปด้วย
    อีกแนวทาง คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐ (PRA Initiation by Policy) ซึ่งเกิดจากรัฐบาลมีนโยบายทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยพืช หรือเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับมาตรการกักกันพืช รวมทั้งมีวิธีการใหม่ในการกำจัดศัตรูพืช หรือ มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับศัตรูพืชหรือสินค้านั้น ๆ ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประเมิน เช่น เปลี่ยนแปลงเขตแดนอันเนื่องมาจากประเทศเกิดใหม่ หรือ ถูกท้าทาย (challenge) โดยประเทศอื่น หรือได้รับคำแนะนำจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น FAO, RPPO เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 การประเมินความเสี่ยงศัตรูพืช (Pest Risk Assessment)

    เป็นการจำแนกศัตรูพืชที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ว่ามีศัตรูพืชชนิดใดบ้างที่มีลักษณะตรงตามคำจำกัดความของ “ศัตรูกักกันพืช” (quarantine pest) แล้วจึงประเมินแนวโน้มที่ศัตรูพืชเหล่านั้นติดเข้ามาเจริญเติบโตและแพร่ระบาดในพื้นที่ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบที่ตามมาจากศัตรูพืชนั้น ซึ่งการจำแนกประเภทศัตรูพืช (Pest Categorization) ให้เป็น “quarantine pest” จะต้องเป็นศัตรูพืชที่มีศักยภาพที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญต่อพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และยังไม่มีในพื้นที่นั้น หรือมีแต่ยังไม่ระบาดแพร่หลายและได้รับการป้องกันอย่างเป็นทางการปัจจัยที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ ลักษณะของศัตรูพืช (identity of pest) การมีหรือไม่มีศัตรูพืชนั้นในพื้นที่ที่ได้รับการประเมิน มีการป้องกันกำจัดอย่างเป็นทางการหรือไม่ และมีศักยภาพที่จะระบาดในพื้นที่ที่ประเมินความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงอาจเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา
    สำหรับการประเมินศักยภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น (Assessment of Potential Economic Consequence) พิจารณาจากประเภทของผลกระทบ (Type of Effect) และผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา (Economic Consequences) กล่าวคือ ผลกระทบที่เกิดจากศัตรูพืชโดยตรง (direct effect) ได้แก่ ศัตรูพืชที่ทำความเสียหายต่อพืชหรือผลิตผลโดยตรง ซึ่งจะต้องพิจารณาจากชนิดพืชต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ประเภท ปริมาณ และความถี่ของความเสียหายที่ได้รับ ผลิตผลที่ลดลงและคุณภาพของผลิตผลที่ต่ำ รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการก่อให้เกิดความเสียหายจากศัตรูพืช อัตราการระบาด ค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
    ผลกระทบอีกทางหนึ่ง คือ ผลกระทบทางอ้อม (indirect effect) เป็นผลกระทบที่ไม่เกิดแก่พืชหรือผลผลิตโดยตรงแต่เป็นที่เกิดจากการที่ศัตรูพืชนั้นเข้ามา เช่น ผลกระทบต่อตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ต่างประเทศนำมาใช้เพื่อกีดกันสินค้าเหล่านั้น ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายและปัจจัยการผลิต ผลกระทบต่อความต้องการของผู้ซื้อทั้งภายในและต่างประเทศสืบเนื่องจากคุณภาพของผลผลิตที่เปลี่ยนไป ผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกำจัดศัตรูพืช ความยากลำบากในการกำจัดให้หมดไปหรือไม่ระบาดเพิ่มขึ้น และผลกระทบด้านสังคม เช่น การว่างงาน การสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
    การประเมินอีกส่วนหนึ่ง คือ การประเมินศักยภาพในการที่จะติดเข้ามาและแพร่ระบาด (Assessment of Potential Introduction and Spread) โดยพิจารณาศักยภาพในการติดเข้ามาของศัตรูพืช (Probability of Entry) ประกอบด้วย การพิจารณาโอกาสที่ศัตรูพืชติดมากับสินค้าในแหล่งผลิต ความน่าจะเป็นที่ศัตรูพืชมีชีวิตรอดระหว่างการขนส่งและจากการป้องกันกำจัดต่าง ๆ ในระหว่างเตรียมสินค้าจนกระทั่งถึงปลายทาง แหล่งและจำนวนจุดหมายปลายทางที่ส่งสินค้า ลักษณะการใช้ประโยชน์ของสินค้า รวมทั้งความยากง่ายในการตรวจพบศัตรูพืชที่ติดมา
    สำหรับศักยภาพในการเจริญเติบโตของศัตรูพืช (Probability of Establishment) พิจารณาจากมีพืชอาศัยของศัตรูพืชในพื้นที่ความเสี่ยงหรือไม่ หากมีจำนวนปริมาณมากน้อยเพียงไร และการกระจายของพืชอาศัยมีลักษณะเป็นอย่างไร ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ประเมิน ศักยภาพในการปรับตัวของศัตรูพืช วิธีการขยายพันธุ์ของศัตรูพืช และวิธีการดำรงชีวิตของศัตรูพืช
    ศักยภาพอีกด้านที่ต้องประเมิน คือ ศักยภาพในการแพร่ระบาดของศัตรูพืช (Probability of Spread) พิจารณาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของศัตรูพืช การติดกับสินค้าหรือยานพาหนะที่นำสินค้าไปในแหล่งต่าง ๆ การใช้ประโยชน์ของสินค้า การมีพาหะนำโรคหรือศัตรูพืชในพื้นที่ประเมินหรือไม่มากน้อยเพียงใด ปริมาณศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืชในแหล่งประเมิน
    ในส่วนของผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา (Economic Consequences) การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของศัตรูพืช มีปัจจัยหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกัน อาทิ เวลาและสถานที่ การวิเคราะห์ผลกระทบด้านการค้า และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่น ๆ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 การจัดการความเสี่ยงศัตรูพืช (Pest Risk Management)

    เป็นการนำข้อสรุปของการวิเคราะห์ความเสี่ยงนำไปสู่การจัดการความเสี่ยง ว่าจะใช้มาตรการใดจัดการกับความเสี่ยง ทั้งนี้ความเสี่ยงที่เป็นศูนย์ (Zero risk) ไม่ใช่ทางเลือกที่มีเหตุผล ดังนั้นความเสี่ยงจึงควรจัดการให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสามารถปฏิบัติได้ หรืออีกนัยหนึ่งการจัดการความเสี่ยงต้องมีวิธีการการจัดการกับความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยสามารถชี้วัดผลและสามารถแนะนำวิธีที่เหมาะสมที่จะจัดการความเสี่ยงต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ ถ้ามีข้อให้เลือกหลายวิธีควรคำนึงถึงข้อจำกัดทางการค้า หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาด้วย การจัดการความเสี่ยง ปัจจัยในการพิจารณาต้องประกอบด้วย ระดับของความเสี่ยง (Level Risk) ข้อมูลทางวิชาการ (Technical Information Required) การยอมรับความเสี่ยง ( Acceptability of Risk) การเลือกวิธีที่เหมาะสมในการจัดการความเสี่ยง (Appropriate Risk Management Option) โดยการจัดการความเสี่ยงยังต้องนำประเด็นของประสิทธิภาพในการป้องกัน (ทางชีววิทยา) ต้นทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับ ผลกระทบจากข้อกำหนดที่มีอยู่ ผลกระทบต่อการค้า สังคม นโยบายการกักกันพืช ประสิทธิภาพของข้อกำหนดที่มีต่อศัตรูพืชชนิดอื่น และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาพิจารณาเพื่อให้ได้มาตรการในการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด
    สำหรับวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดการความเสี่ยง (Pest Risk Management Options) แบ่งได้ 4 ลักษณะใหญ่ๆ คือ (1) วิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ใช้กับสินค้าโดยตรง เช่น การรมด้วยแก๊สพิษ การอบด้วยไอน้ำ เป็นต้น (2) การป้องกันหรือการลดระดับการทำลายศัตรูพืชในแหล่งผลิต เช่น การกำหนดให้มีเวลาตรวจและกำจัดศัตรูพืชในแหล่งปลูก (3) การกำหนดแหล่งปลอดศัตรูพืชสำหรับสินค้าในแหล่งผลิต และ (4) การห้ามนำเข้า
    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชทั้ง 3 ขั้นตอน จะต้องมีการสื่อสารความเสี่ยง (Risk communication) ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืชและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการกักกันพืช